ปรับเสียงชุดลำโพง Home Theater ฉบับจับมือทำ

ช้าก่อนครับ หากคิดจะเปลี่ยนชุดอุปกรณ์ในเครื่องเสียงของท่าน เพื่อให้มันดีขึ้นถามว่าตอนนี้เรา setup มันดีที่สุดเท่าที่ระบบจะทำได้แล้วใช่ไหม ?

ถ้าคำตอบคือ……ใช่

—– เริ่มมองหาอุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนได้เลย (อย่าลืมหาเรื่องที่ดูดีมีเหตุผล อธิบายกับคนข้าง ๆ ด้วยล่ะ 555)

ถ้าคำตอบคือ….. น่าจะใช่ หรือ ยังลังเล

—— คุณมาถูกทางแล้วครับ วันนี้เราลองมา set up ชุดเครื่องเสียง home theater ที่เรามีให้มันสุด ๆ ก่อน ไม่เกี่ยงว่าระบบของท่านจะหรูเริดเพียงใด หรือ ระบบ in the box ก็ทำได้ไม่ต่างกันจริง ๆ

สำหรับใครที่ยังไม่เคยทำ แกะกล่องมาตั้ง auto แล้วใช้มาตลอด แนะนำเป็นอย่างยิ่งครับ แล้วจะรู้ว่าระบบเรามันก็แจ๋วเหมือนกัน ฟันธงให้เลย ว่าท่านต้องรับรู้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาก หากยังไม่เคยทำไว้

เตรียมอุปกรณ์กันก่อน

1. เครื่องวัดเสียง ปรกติจะสามารถปรับหน่วยเป็น dB(A) หรือ dB(C) ได้ หน้าตาประมาณนี้ครับ

2 . คู่มือเครื่องเสียงของท่าน กรณีไม่เคยไปเปิดมันดูเลย จะได้หาถูกว่ากดปุ่มไหนเข้าสู่ menu เซ็ต

แค่นี้แหละครับก่อนเริ่ม make sure ว่าการวางตำแหน่งลำโพง ต่าง ๆ อยู่ในจุดที่เหมาะสมแล้ว หากยังไม่มั่นใจกลับไปที่หน้า home ของ blog จะมี article เรื่องการวางตำแหน่งลำโพงอยู่ ดูเป็นแนวทางได้เลย ไม่ว่าจะเป็นระบบ เสียง 2.1 , 5.1 หรือ  7.1

พร้อมหาตำแหน่งนั่งฟัง หรือนั่งดูหนัง ของท่านด้วยว่าที่นั่งประธานอยู่ตรงไหน (ที่นั่งประธานคือ ที่นั่งหลัก เพียง 1 ตำแหน่งที่ใช้บ่อยที่สุด ) เช่น หากเป็น sofa ยาว ก็อาจจะเป็นที่นั่งกลาง หรือใครเวลาดูหนัง ฟังเพลง จะนั่งเอียงซ้าย หรือ เอียงขวา ก็ตัดสินใจซะเลย ว่าจะเอาตรงไหน ส่วนที่นั่งเสริม ปล่อยไปก่อน

ผมจะใช้ เครื่อง av ยี่ห้อ Yamaha เป็นตัวอย่างนะครับ ส่วนเครื่องท่านยี่ห้ออื่น ๆ หลักการจะคล้ายกันครับ เพียงแต่ตำแหน่ง menu อาจจะเรียกชื่อไม่เหมือนกันเท่านั้น

ว่าด้วยเครื่องวัดเสียง

ตั้งใจจะขยายความตรงนี้นิดนึง ไม่อยากให้จำแต่อยากให้เข้าใจเรื่องหน่วยวัดของเครื่องวัดเสียง ปรกติจะมีที่เราพบเจอบ่อย ๆ คือ หน่วย dB , dB(A), dB(C)  อันที่จริงยังมีแยกย่อยไปอีก แต่เอาเฉพาะที่เราต้องใช้ก่อนละกัน

หน่วย dB หรือ บางเครื่องจะเรียก  dBF หมายถึงระดับพลังงานเสียงปรกติ หากเป็นการทดสอบผลิตภัณฑ์ในห้องทดสอบต่าง ๆ จะใช้หน่วยวัดนี้ครับ

หน่วย dB(A) เป็นการลดระดับความไวต่อของไมโครโฟนของเครื่องวัด เสียง   เป็นการปรับค่าให้ใกล้เคียงกับการได้ยินของหูเรา ใช้ในการวัดระดับความดังทั่ว ๆไปที่หูเราได้ยินครับ ซึ่งจะมีการปรับลดพลังงานเสียงในย่านความถี่ ตั้งแต่ 1000 Hz ลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งจะไม่เหมาะต่อการเช็คระบบเสียงของเราครับ เพราะเครื่องที่เราใช้ ดูหนัง ฟังเพลง ย่านความถี่น้อยกว่า 1000 Hz มีเป็นปรกติอยู่แล้ว

หน่วย dB( C) คล้ายกับ (A) แต่ช่วงการถ่วงน้ำหนัก จะใกล้เคียงกับ dBF   อันนี้จะเหมาะมากต่อการ set up ของเราในครั้งนี้ครับเพราะเราต้องการ ทดสอบระดับความดังในช่วงที่กว้าง เพราะเราใช้เครื่องทั้งดูหนัง และ ฟังเพลง จะครอบคลุมย่านความถี่กว้าง ๆ อยู่แล้ว

สรุปว่าเราจะใช้ หน่วย dB( C) ตามหลักการด้านบนนะครับ  

สัญญาณ และ ระดับความดังของเสียงที่จะทดสอบ

ตั้งใจจะขยายความตรงนี้เช่นกัน ไม่อยากให้จำว่าต้องเปิดเท่าไหร่ ใช้สัญญาณเสียงแบบไหน

สัญญาณเสียงที่จะใช้ทดสอบ เราจะใช้ “Pink noise” ครับ เสียงซ่า …………. ไม่ใช่ sine wave เหมือนที่เราเอามาเทสลำโพงในบทความที่แล้วนะครับ

 Pink noise คือระดับเสียงที่มีพลังงานเสียงเท่ากันในแต่ละกลุ่มความถี่ ปรกติดการวัดค่าทาง acoustic จะแบ่งค่าความถี่ออกเป็นกลุ่ม เรียกว่า Octave band ครับ คล้ายกับ key ใน piano เราจะมี โด เร มี ฟา ……. แล้วก็จะเริ่มใหม่ ที่ โด เร มี ฟา…. แต่จะเป็นกลุ่มเสียงที่ ต่ำ หรือ สูงกว่า ไป เรื่อย ๆ   โดยจะแบ่งที่ระดับความถี่เพิ่มขึ้น ทุก ๆ เท่าตัว เช่น 31.5  63 125 250 500 1000 2000 4000 8000 16000 Hz

pink noise คือระดับพลังงานเสียงเท่ากันใน 1 กลุ่ม octave ครับ  จากรูปแสดงลักษณะพลังงานเสียงของ pink noise จะเห็นเป็น slope นั่นเพราะว่าพลังงานงานเสียงจะลดลงในลักษณะ logarithm  (ไปกันใหญ่) ง่าย ๆ คือ ความถี่สูง ๆ ระดับการได้ยินของเราจะได้ยินง่าย ในขณะเสียงต่ำเราจะได้ยินน้อย เจ้า pink noise นี้จึงทำมาเพื่อปรับอัตราพลังงานในแต่ละย่านให้เท่ากันไงครับ  ซึ่งจะสอดคล้องกับการเปิด volume ของเครื่องเสียง และผลิตเสียงให้เราได้ยินที่ระดับความดังต่าง ๆ  ดังนั้นการ set up ของเราครั้งนี้จะใช้ pink noise ครับ

จะหา  pink noise ได้จากไหน  ?

ปรกติใน เครื่อง AV จะมีสัญญาณเสียงนี้ ิ built in ให้อยู่แล้วครับตอนเปิดสัญญาณเสียง set up ลำโพง ไม่ต้องไปหาเพิ่ม หากเครื่องใครไม่มีก็สอบถามจากอากู๋ได้ ไม่ยากครับ

                จะเปิดระดับเสียงอ้างอิงในการทดสอบที่เท่าไหร่ ?

ในวงการ mix เสียงของ studio ผู้ผลิตภาพยนตร์จะมีการ set up ค่ามาตรฐานระดับเสียงอ้างอิงที่ 85 dB ครับ โดยยอมให้มีค่าเสียงกระแทก peak เพิ่มได้อีกประมาณ  +20 dB ในย่านความถี่กลาง (500 -2000 Hz) และ +10 ในย่านความถี่ต่ำ LFE อ่านแล้วงง (ผมต้องรู้เรื่องนี้ด้วยหรือ ผมแค่ต้องการ set up เสียงเครื่อง AV เท่านั้นเองนะครับ)  ต้องรู้ครับเพราะเราเป็นเจ้าของเครื่อง จะได้รู้และ คุมมันอยู่ 555

มาต่ออีกนิดนึง นั่นหมายความว่าหากคุณ เปิดความดังอ้างอิงจากเครื่อง AV ของท่าน ไปที่ 0 จะมีโอกาสที่ความดังในช่วง peak จะวิ่งไปถึง 105 dB และ LFE ซึ่งจะผลิตเสียงจาก sub woofer วิ่งไปถึง 115 dB  จริงๆ นะครับ ไม่ได้ล้อเล่น

จะเห็นว่าเป็นระดับเสียงที่ดังมาก ดังนั้น ทาง Dolby และ Lucus film จึงกำหนดให้ลดค่าบันทึกเสียงสำหรับการใช้งานหนังแผ่นในบ้านทั้งหมด ลงเหลือ 75 dB เท่านั้น (ก่อนที่ หู ของเราจะพังซะก่อน) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเปิดระดับสัญญาณเสียงทดสอบที่ดัง 75 dB

ดังนั้นค่าการ set up ของเราจะใช้ระดับอ้างอิงที่ 75 dB นะจ้ะ

โอเค เราน่าจะเข้าใจเรื่องที่ควรรู้ไปหมดแล้ว มาเริ่มภาคปฎิบัติกันเลยครับ

 The show must go on

พิมพ์ออกมาเลย  แล้วเอาไปเช็คลิสท์ตอน set up จริง

ลองหาหนังอ้างอิงที่ท่านชอบ ลองเลือกฉากที่ต้องการทดสอบเปิดระดับความดังตามปรกติ นั่งฟังสังเกตร่ยละเอียดเสียงเอาไว้ให้ดีครับ เพื่อไว้เปรียบเทียบหลังการ set up อีกครั้ง

………… ปิดประตูห้อง (หากมีห้องโดยเฉพาะ) เปิดแอร์ (หากมีแอร์) ทำสภาพให้เหมือนกับที่ท่านใช้ดูหนัง ฟังเพลง ตามปรกติ

…………  ปรับเครื่องวัดเสียงไปที่ Slow ครับ (จะมี  fast และ slow) หากใช้ fast ค่าการวัดมันจะไวมาก ดูยาก

………… ปรับเครื่องวัดเสียง ไปที่หน่วยการวัด dB(C) ครับ

…………. วางตำแหน่งเครื่องวัดเสียงให้ใกล้เคียงกับตำแหน่งศีรษะของท่าน ตอนดูหนังปรกติมากที่สุด (อาจใช้ขาตั้งกล้องช่วย )โดยวางเฉียง ประมาณ 45 องศา ขึ้นฝ้าเพดาน ระวังตัวเราเองจะไปยืนบังไมโครโฟนด้วยล่ะ

…………..  หากมีฟองน้ำครอบกันลมจากเครื่องวัดเสียง ให้เอาออกด้วย

…………..  เปิดเครื่อง av ของท่าน เข้าเมนู setup ลำโพง

………….. หากเครื่อง AV ท่านมี function EQ ต่าง ๆ ให้ disable หรือ ปิด ให้หมดครับ

………….. ปรับให้เสียง test tone เปิด

………….. เลือกไปที่ ลำโพง แต่ละ channel (เริ่มจากซ้ายก่อนก็ได้)

………….. ปรับ volume เครื่อง AV ของท่านไปที่ ระดับความดัง 0

………….. ดูที่เครื่องวัดเสียง ว่าได้ตัวเลขเท่าใด ปละปรับเพิ่มลดระดับความดังของลำโพงในแต่ละ channel จนได้ 75 dB (C )  การปรับนี้ไม่ใช่หมุน volume ของเครื่อง AV นะครับ หมายถึงปรับ + – จาก function ของลำโพงในแต่ละ channel

………….. ทำจนหมดครบลำโพงทั้ง 5 หรือ  7 ตัว แล้วแต่ระบบท่าน

………….. Subwoofer  เช่นเดียวกัน แต่เพื่อความสะใจอาจ ปรับบวกเพิ่มไปอีก 6  ประมาณ  81 dB (C )

 จบ phase แรกครับ ไปพักดื่มกาแฟ ซักแก้ว มาต่อ phase 2 เลย คือการเซ็ทระยะห่างจากลำโพง มาจุดฟัง

………….  เอาตลับเมตร วัดลากจากจุดดอกลำโพงตัวที่สูงที่สุดของแต่ละ channel มาที่ปลายเครื่องวัดเสียงที่ตั้งไว้เลย จดตัวเลขไว้ (ทำทุก channals นะครับ)

…………. หากเครื่องท่านมี function EQ ต่าง ๆ ให้ disable หรือ ปิด ให้หมดครับ

…………. เข้า menu setup ลำโพงของเครื่อง AV ท่าน เลือกเมนู speaker distance

…………. ใส่ระยะที่จดไว้ ทุก channels ตามที่วัดได้จริงลงไป

………….  save และ ปิด test tone  เสร็จ……..

ยินดีด้วยครับ ท่านทำการปรับระดับเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลองเอาหนัง เลือกฉากที่ทดสอบไว้ตอนแรกมาเปรียบเทียบดูเลยครับ รับรองว่า เห็นผล แน่ ๆ …..

อ้อ ระดับความดังที่ดีที่สุดในการรับชมภาพยนตร์ของท่าน จากนี้ไปคือ ระดับ Volume ที่ AV คือ 0 นะครับ เพราะเราปรับตั้งจากค่าอ้างอิงนี้ ระดับเสียงต่าง ๆ ที่ท่านได้ชม ได้ฟัง จะมีระดับใกล้เคียงมากที่สุดตามที่ studio หนังบันทึกมา และตั้งใจให้เราได้ยินแบบนั้นครับ

อ่านเสร็จแล้วชอบใจ ให้กำลังใจกันก็กด like มาเป็นเพื่อนกันที่ face book นะครับ

Spybug

11 comments on “ปรับเสียงชุดลำโพง Home Theater ฉบับจับมือทำ

  1. ระดับ Volume ที่ AVR คือ 0 แสดงว่าเร่งระดับเสียงสูงสุดใช่ไหมครับ เพราะ AVR ปัจจุบัน
    ตัวเลขระดับเสียงยิ่งน้อยลงหมายถึงเร่งเสียงให้ดังขึ้น ผมเข้าใจถูกไหมครับ และเครื่องวัดที่ราคาพอสัมผัสได้หาซื้อได้ที่ไหนและราคาเท่าไรครับ ขอบคุณครับ

    • ระดับเสียงที่ 0 ไม่ใช่ระดับเสียงสูงสุดครับ เป็นระดับอ้างอิงของเครื่อง av ครับ อย่างเครื่องผม มันมีระดับ + ไปอีก (yamaha)ที่ให้เปิดระดับอ้างอิงเพื่อเทียบกับระดับความดังเวลาวัดเท่านั้นเองครับ ถึงแม้ความเป็นจริงเวลาเปิดดูจริงจะไม่ได้เปิดถึงระดับความดังที่ o ก็ตามแต่หากปรับระดับความดังได้เหมาะสมแล้ว ความโอบล้อม รอยต่อของเสียง ทิศทางของเสียง มันจะเป้ะตรงตามที่ studio บันทึกมาครับ

      ส่วนเรื่องเครื่องวัด หากยังไม่มีสามารถใช้ iphone ipad ipod วัดไปได้ก่อนเหมือนกัน อ่านใน blog ของผมหน้าแรกได้เลย มีcomment ที่ผมตอบเพิ่มไว้ด้วยที่ท้ายกระทู้ ได้ผลแน่นอนครับ ยังไม่ต้องไปซื้อเครื่องวัดจริงจัง ลองดูก่อนครับ
      Spybug

ส่งความเห็นที่ นิรนาม ยกเลิกการตอบ